โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 7 จัดกิจกรรมปั่นรณรงค์ในเมืองเลย ตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก

โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 7 จัดกิจกรรมปั่นรณรงค์ในเมืองเลย ตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 7

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 7 จัดกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์ในเมืองเลย ลงพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนน้อมนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การปฏิบัติ เพื่อฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก แหล่งกำเนิดแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำสำคัญหลายสายที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยในภาคกลาง และชาวอีสานตอนบนตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน 

กิจกรรมปั่นรณรงค์ในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังกันระหว่าง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และภาคีทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน โดยมีนักปั่นกว่า 500 คน ร่วมขบวนรณรงค์เป็นระยะทาง 45 กม. จากศาลากลาง จ.เลย มุ่งหน้าสู่วัดป่าประชาสรรค์ อ.วังสะพุง จ.เลย พร้อมเยี่ยมเยียนพื้นที่ของเครือข่ายคนมีใจ และร่วมเรียนรู้ศาสตร์พระราชาผ่านกิจกรรมมากมาย อาทิ ปลูกข้าวและฟักทองในวิกฤตแล้ง ทำเห็ดตะกร้า ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประธานในพิธีปล่อยขบวนจักรยานรณรงค์ กล่าวว่า “โครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ มีเป้าหมายในการน้อมนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นลงสู่การปฏิบัติ เพื่อหยุดท่วม หยุดแล้ง ในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน และขยายผลสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดย 6 ปีที่ผ่านมาโครงการฯ สามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและเกิดการขยายผลออกไปอย่างกว้างขวางถึง 24 ลุ่มน้ำ จากทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ 

สำหรับกิจกรรมรณรงค์ในปีที่ 7 นี้ เราได้มาที่ จ.เลย ที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสักและเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติขึ้นตั้งแต่ปี 2547 และจัดตั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงในปี 2551 เป้าหมายของกิจกรรมรณรงค์เพื่อขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา อันเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในการแก้ปัญหา ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน จนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับการถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม จากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ต่อมาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็น ‘วันดินโลก’ ซึ่งในปีนี้เป็นการรณรงค์เรื่อง ‘การปกป้องอนาคต ลดการชะล้างดิน’ (Stop Soil Erosion, Save Our Future)  

นอกจากนี้ศาสตร์พระราชายังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ อาทิ การขจัดความยากจน การสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน การปกป้องฟื้นฟูและส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ทางโครงการฯ ได้ดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่องตลอดมา”

ด้าน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวถึงความพร้อมและความตื่นตัวของคนเมืองเลยว่า “ลักษณะภูมิประเทศของ จ.เลย ส่วนใหญ่เป็นภูเขา และเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ได้แก่ ต้นน้ำเลย ลำน้ำพุง ลำน้ำพอง แม่น้ำเหือง รวมถึงแม่น้ำป่าสัก ความที่เป็นคนต้นน้ำจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะต้องตื่นตัวและให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นที่นี่ย่อมส่งผลกระทบไปสู่คนปลายน้ำได้อย่างไม่ต้องสงสัย จ.เลย ได้มีการนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนปลูกสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะทำให้ จ.เลย มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการบุกรุกพื้นที่แปลงใหญ่เพิ่มขึ้น และยังสามารถคืนผืนป่ากลับมาได้จำนวนหนึ่งอีกด้วย

กิจกรรมปั่นรณรงค์ในโครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์ รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากชมรมจักรยาน จ.เลย นำโดย นายกเทศมนตรีเมืองเลย นายสัมพันธ์  คูณทวีลาภผล และประชาชนคนเลยที่ตื่นตัวให้ความร่วมมือกับกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างมาก โดยชมรมจักรยาน จ.เลย สามารถรวบรวมผู้สนใจร่วมกิจกรรมปั่นได้กว่า 300 คนและยังมีขบวนนักปั่นจากโครงการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เป็นขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่มาก” 

ด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ภาคีหลักภาคเอกชน กล่าวถึงว่า “จ.เลยเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นต้นน้ำป่าสัก ที่ไหลผ่าน 7 จังหวัด ได้แก่ เลย เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา และยังเป็นลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใย เพราะมีความลาดชันสูง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้โดยง่าย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ในปี 2556 และโครงการฯ ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา โดยได้เผยแพร่องค์ความรู้ นำเสนอตัวอย่างบุคคลต้นแบบ เพื่อสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจสู่ชาวไทยในทุกพื้นที่ ผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคี การปั่นจักรยานรณรงค์ การผลิตสื่อในหลากหลายรูปแบบ 

ในปีที่ 7 นี้ เราดำเนินกิจกรรมรณรงค์เพื่อฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก จ.เลย ด้วยแนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี’ เพื่อรวมพลังสร้างความเปลี่ยนแปลง ตามรอยศาสตร์พระราชา ให้ขับเคลื่อนไปทั่วทุกลุ่มน้ำ โดยจัดกิจกรรมทั้งหมด 4 วัน ระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม ซึ่งเริ่มจากการปั่นรณรงค์ในตัวเมืองเลย ก่อนที่ขบวนปั่นจักรยานรณรงค์จะเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น ไปสมทบกับกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง และไร่นาป่าสวนขุนเลย อ.ภูหลวง เพื่อฟื้นฟูต้นน้ำป่าสักตามแนวทางวนเกษตร หรือ การทำการเกษตรในพื้นที่ป่า นอกจากนั้น โครงการฯ ยังจัดกิจกรรมทัศนศึกษาต้นน้ำป่าสัก ที่สักหง่า บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย หวังผลกระตุ้นให้เครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การที่เชฟรอนให้การสนับสนุนโครงการฯ อย่างต่อเนื่องถึง 7 ปีนั้น ก็เพราะมุ่งหวังบรรลุเป้าหมายหยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน และปรารภนาให้เกิดการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างแพร่หลายให้แตกตัวครบทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ”

สำหรับกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์ เครือข่ายนักปั่นจากชมรมจักรยาน จ.เลย นักปั่นสะพานบุญ นักปั่นเชฟรอน กว่า 500 คน ได้แวะพักทำกิจกรรมในพื้นที่ของเครือข่ายคนมีใจ 3 แห่ง ได้แก่ ภูนา บ้านรักตะวัน อ.เมือง ของนายปริพนธ์ วัฒนขำ เพื่อร่วมปลูกข้าวและฟักทองสู้วิกฤตแล้ง ก่อนเดินทางไปต่อที่ บ้านฟากนา ฟาร์มสเตย์ อ.เมือง ของนางสุกัญญา บำรุง เพื่อร่วมทำกิจกรรมทำเห็ดตะกร้า ปุ๋ยแห้งจากก้อนเห็ด และห่มฟางสร้างแหล่งอาหาร จากนั้น ขบวนปั่นจึงมุ่งหน้าไปยังสวนรุ่งทิพย์เกษตรอินทรีย์ อ.วังสะพุง ของนางรุ่งทิพย์ ธันขา ร่วมทำกิจกรรมปลูกแฝก ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ก่อนจะไปจบขบวนที่วัดป่าประชาสรรค์ อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นอันสิ้นสุดกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์ ด้วยระยะทาง 45 กม. 

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจร่วมเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สามารถติดตามโครงการฯ ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org