เดินหน้าโครงการตามรอยพ่อฯ ปี 5  จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 4 จ.เชียงใหม่

เดินหน้าโครงการตามรอยพ่อฯ ปี 5 จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 4 จ.เชียงใหม่

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 5

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผนึกกำลัง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าจัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (บวร) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม บ.อมลอง ต.แม่สาบ  อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ด้วยการสร้างต้นแบบหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อให้ความรู้แก่ชาวเขาในการปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน สู่การทำการเกษตรผสมผสานแปลงเดียว เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และแก้ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่า โดยกิจกรรมนี้ ดำเนินการภายใต้โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 5 จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาทั้งในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การลงมือปฏิบัติ และขับเคลื่อนความสำเร็จของโครงการฯ จากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ โดยมีเครือข่ายคนมีใจ ที่เข้มแข็งจากทั่วประเทศ จิตอาสาเชฟรอน และสื่อมวลชนกว่า 300 คน เข้าร่วมกิจกรรม

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน กล่าวว่า “จากจุดเริ่มต้นของโครงการฯ ในการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก วันนี้โครงการฯ ขยายผลการแก้ไขปัญหาระดับลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมไปเกือบทั่วทุกลุ่มน้ำในประเทศไทยแล้ว ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน โดยโครงการฯ ในปีที่ 5 ได้ดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ มีเป้าหมายจัดกิจกรรมตามแนวคิด ‘โคก หนอง นา’ โมเดล ใน 4 พื้นที่ เพื่อสร้างตัวอย่างความสำเร็จกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยเริ่มจากที่กรุงเทพ ณ แปลงเกษตรสาธิต สจล. ด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรในเมือง จากนั้นเราไปที่ไร่สุขกลางใจของ อ.สุขะชัย ศุภศิริ จ.ราชบุรี เพื่อเป็นตัวอย่างการขับเคลื่อนโครงการฯ สู่ลุ่มน้ำแม่กลอง และถัดมาที่นาข้าวดินปนหินของลุงแสวง ศรีธรรมบุตร จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นตัวอย่างการสร้างต้นแบบจากชาวบ้านสู่ความร่วมมือ 7 ภาคี คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา และสื่อมวลชน และเป็นการขับเคลื่อนโครงการฯ สู่ลุ่มน้ำชี จนมาถึงกิจกรรมล่าสุดที่ จ.เชียงใหม่ ในครั้งนี้ เพื่อทำต้นแบบหลุมขนมครกบนพื้นที่สูงในพื้นที่จำกัด” 

“ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกปีว่าศาสตร์พระราชาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลายคนสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและปัญหา จนหลายคนเข้มแข็งขึ้น ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เชฟรอนเองก็มุ่งมั่นจะสืบสานพระราชปณิธานต่อไป เพราะเหมาะสมกับบริบทสังคมไทยและตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมมือทำงานกับทุกภาคส่วน โครงการนี้มีเป้าหมายใหญ่ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืนโดยเริ่มต้นที่ลุ่มน้ำป่าสักก่อน ด้วยการสร้างตัวอย่างผลสำเร็จให้เกิดการขยายผลและแตกตัวออกไปเรื่อย ๆ” นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กล่าวว่า “โครงการนี้ เรามีกรอบการดำเนินงาน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ โดย 3 ปีแรก คือ ระยะตอกเสาเข็ม เป็นการวางรากฐานการรับรู้ ส่วน 3 ปีถัดมา คือ ระยะแตกตัว ขยายผลด้วยการสร้างคนต้นแบบ และ 3 ปีสุดท้าย คือ เชื่อมโยงทั้งระบบโดยความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่าย ซึ่งในปีที่ 5 นี้ เราได้นำภารกิจของการ ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือ การลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน ประสานความสามัคคี เชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และแลกเปลี่ยนความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชาในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับแนวคิดหลัก ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ ชี้ชัดถึงการดำเนินงานในระยะที่ 2 ในการสร้างคน สร้างครู หรือ ‘คนต้นแบบ’ และสร้างเครื่องมือในการยกระดับศูนย์เรียนรู้สู่การศึกษาตลอดชีวิตด้วยโครงสร้าง ‘บวร.’ (บ้าน+วัด+โรงเรียน) ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม เป็นตัวอย่างความสำเร็จเป็นรูปธรรมด้วยหลัก ‘บวร.’ อย่างชัดเจน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ตามด้วยชุมชน โรงเรียน และราชการ ในการปกป้องและรักษาป่าต้นน้ำ การแก้ปัญหาไฟป่า การแก้ปัญหาหนี้สิน การศึกษาแบบโฮมสคูล (Home School) ฯลฯ ที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเรียนรู้อยู่กับป่าได้บนวิถีของความพอเพียง โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ ยังสามารถดำเนินงานด้วยทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียงจนประสบความสำเร็จ คือ พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น พอเหลือทำบุญทำทาน พอเก็บรักษาเอาตัวรอดในยามวิกฤติ ทำการค้าขายได้อย่างพอประมาณ และสร้างเครือข่ายแก้วิกฤตในชุมชนได้” 

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กล่าวว่า “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ได้เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยการร่วมให้คำแนะนำและสอนวิธีการออกแบบพื้นที่ทำการเกษตรของเครือข่ายและประชาชนที่สนใจตามแนว ทางศาสตร์พระราชาในรูปแบบ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ โดยคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพของดิน รวมถึงความต้องการ และกำลังทุนทรัพย์ของเจ้าของพื้นที่ ทำให้เกิดการยอมรับเป็นวงกว้างในแนวทางการจัดการน้ำที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยมุ่งหวังให้แต่ละพื้นที่สามารถเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ความพิเศษของการออกแบบพื้นที่ในครั้งนี้ คือ ต้องทำให้เป็นต้นแบบหลุมขนมครกบนพื้นที่สูงบนที่ขนาด 5 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน เพราะเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอ ใช้พื้นที่หลายแปลงในการทำไร่หมุนเวียน แต่ปัจจุบันถูกจำกัดให้มีพื้นที่เหลือเพียงแปลงเดียว จึงต้องออกแบบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าบนพื้นที่จำกัดก็สามารถทำให้ครอบครัวพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็นได้ ด้วยการการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างบนโคก ช่วยลดการพังทลายของหน้าดินบริเวณไหล่เขา ทำนาขั้นบันได ยกหัวคันนาสูง 1.00–1.50 เมตร ขุดร่องน้ำรอบนาเพื่อกักเก็บน้ำและตะกอนดินที่ไหลลงมาจากบนเขาเมื่อฝนตก การทำฝายชะลอน้ำและคลองไส้ไก่สร้างความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำ ปลูกแฝกป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และการทำแปลงปลูกผักเชียงดาอินทรีย์ พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งสร้างระบบนิเวศแบบป่า โดยการปลูกพืชผสมผสานเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้ดินและช่วยซับน้ำไว้ใต้ดิน ซึ่งเป็นที่มาของภารกิจการเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้”

“นอกเหนือจากการร่วมออกแบบพื้นที่ในโครงกการฯ แล้ว สจล. ยังต่อยอดทำโครงการวิจัย ‘การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยการติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม’ขึ้น ในนาม ‘ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล.’ (ITOKmitl) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและเป็นมาตรฐานในทางวิชาการ ใน 3 พื้นที่ คือ จังหวัดลำปาง จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดตาก รวม 300 ไร่ ซึ่งจะช่วยยืนยันความสำเร็จของทฤษฎีการจัดการทรัพยากร ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ไขปัญหาครบทุกมิติ” ผศ.พิเชฐ กล่าวเสริม

ด้าน พระวีระยุทธ์ อภิวีโร (ครูบาจ๊อก) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม พระนักพัฒนาที่นอกจากดูแล ดิน น้ำ ป่า และชีวิตของชาวบ้านแล้ว ยังนำหลัก “บวร” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ โดยเริ่มจากวัดก่อน เมื่อวัดเข้มแข็ง จึงชวนชาวบ้านมาตั้งเป็นศูนย์ฯ ชวนราชการ มหาวิทยาลัย โรงเรียนมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเผยแพร่ศาสตร์พระราชา “จุดเปลี่ยนเริ่มจากปี 2551 สตรอเบอร์รี่ที่ทั้งหมู่บ้านปลูกเป็นโรคตายหมด ชาวบ้านเป็นหนี้ต้องขายรถ ขายที่ จึงหันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยวัดทำโครงการ 1 ไร่คุณธรรม ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อยุติวงจรการเป็นหนี้ จนเมื่อนำศาสตร์พระราชามาใช้ ก็มีเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ สนใจ ลงมาดูพื้นที่ทำวิจัยร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี ประกอบกับได้นำความรู้ที่เรียนจากมาบเอื้องมาใช้ อย่างการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น ทำสบู่ แชมพู ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้ ชาวบ้านเริ่มปลดหนี้ได้ ชีวิตดีขึ้น นอกจากนั้น อ.ยักษ์ ยังมาเยี่ยมตระเวนดูแนวกันไฟ ให้แนวคิดการจัดการป่า น้ำ สร้างป่าเปียกตั้งแต่บนยอดดอยถึงข้างล่าง เมื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปลูกป่า สร้างฝาย ทำแนวกันไฟ ทำเรื่องลดปัจจัยต้นทุนการผลิตแปรรูปทำปุ๋ย ทำน้ำหมักแล้ว ก็มาทำเรื่องการศึกษาพอเพียงที่ติดใจมาตั้งแต่เป็นบัณฑิตอาสา ทำโรงเรียนเพื่อให้ชาวบ้านอยู่รอดในพื้นที่ของเขา สอนความเป็นคน ให้เรียนรู้ตามความถนัดความชอบของแต่ละคน เอาชีวิตเป็นฐาน เอาชุมชนเป็นตัวตั้ง เรียนรู้จากสถานการณ์จริงและเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตัวเอง เพราะที่นี่ไกลจากโรงพยาบาล ต้องเป็นที่พึ่งให้ตนเอง ให้พ่อแม่และชุมชน ตอนนี้ชุมชนเป็นพึ่งพาให้กับหมู่บ้านอื่นจาก 1 เป็น 20 หมู่บ้านแล้ว นอกจากนี้ยังจัดตั้ง ‘ศูนย์ราษฎร’ หรือ ‘ศูนย์ของชาวบ้าน’ ให้ชุมชนลุกขึ้นมาบริหารจัดการกันเองทุกเรื่อง โดยแบ่งฝ่ายเป็น 7 กระทรวง ได้แก่ มหาดไทย พัฒนา สาธารณสุข วัฒนธรรม การคลัง อุตสาหกรรม และการเกษตร และให้ชาวบ้านสมัครกันเองว่าอยากทำอะไร มีวาระ 1 ปี มีพระ 3 รูปเป็นที่ปรึกษา อย่างเรื่องการกำหนดเขตอนุรักษ์ อนุญาตให้ตัดป่าใช้ประโยชน์ได้แต่ตัด 1 ต้นต้องปลูกคืน 10 ต้น ให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าในการรักษา”

“ตามแนวทางของในหลวง ร.9 ไม่ได้ทำทุกเรื่อง แต่ทำไปทีละเรื่อง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนใน 10 ปีที่ทำมา ได้แก่ ป่าฟื้นกลับมา มีน้ำใช้ตลอดปี ดินมีชีวิตปลูกอะไรก็งอกงาม ชาวบ้านมีรายได้ สามารถปลดหนี้ได้ อย่างเมื่อปี 2559 สะเมิงแล้งที่สุดในรอบ 70 ปี พื้นที่อื่นแล้งหมด แต่ที่วัดมีน้ำของตัวเอง จึงทำน้ำกรองไปแจกจ่ายหมู่บ้านที่ขาดน้ำ จนหมู่บ้านอื่นสนใจอยากสร้างฝาย ทางวัดจึงจัดตั้งโครงการสร้างฝายถวายในหลวงร.9 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ 70 ปี ซึ่งเดิมตั้งใจทำ 99 ฝาย บอกบุญไปสุดท้ายสร้างได้ถึง 122 ฝาย เป็นโครงการสุดท้ายที่ได้ทำถวายพระองค์” ครูบาจ๊อก กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 5 ยังคงเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยกิจรรมในครั้งถัดไปเป็นงานสรุปผลการดำเนินโครงการฯ ปีที่ 5 โดยจะนำผลผลิตของเครือข่ายคนมีใจที่เข้าร่วมโครงการมาจัดแสดงและจำหน่าย เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจสู่การลงมือปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชา ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2560 ณ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking