ขยายผลในโครงการ “รวมพลังตามรอยพ่อฯ”  แก้ปัญหา

ขยายผลในโครงการ “รวมพลังตามรอยพ่อฯ” แก้ปัญหา "เขาหัวโล้น" ด้วยศาสตร์พระราชา ณ “บ้านห้วยกระทิง จ.ตาก”

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 4

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ แสดงตัวอย่างผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แก้ไขปัญหา "เขาหัวโล้น" ด้วยศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่บ้านห้วยกระทิง ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งเป็นการขยายผลจากโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 เพื่อสร้างการตระหนักรู้และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปในการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น สานต่อเป้าหมาย หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน และหวังให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็น “ต้นแบบ” การจัดการลุ่มน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ เกิดการขยายผลไปยังลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ

นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “โครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ เป็นการรวมพลังกันอย่างเข้มแข็งของ 5 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน โดยมีเชฟรอนประเทศไทย สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกันเป็นแกนหลักในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 จนถึงในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักของโครงการฯ คือ สร้าง ‘คนมีใจ’ จนเกิดการขยายผลเป็น ‘เครือข่าย’ ที่เข้มแข็ง ในการนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการฯ ได้เกิดรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำกินในหลายพื้นที่ และหนึ่งในตัวอย่างของผลสัมฤทธิจากการขยายผลไปสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ คือ บ้านห้วยกระทิง ซึ่งเป็นตัวอย่างของหมู่บ้านอนุรักษ์ป่าที่ได้นำศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาพื้นที่ทำกิน จนชาวบ้านได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ร่วมกันเปลี่ยน ‘เขาหัวโล้น’ ให้เป็น ‘เขาหัวจุก’ และปรับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาใช้วิธีเกษตรผสมผสาน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน อย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในบ้านห้วยกระทิง อ.แม่ระมาด จ.ตาก”

ด้าน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “เดิมทีชาวบ้านห้วยกระทิงกับเจ้าหน้าที่อุทยานขุนพะวอมีความขัดแย้งกันในเรื่องแนวเขตสิทธิการจัดการที่ดินและทรัพยากร จนเมื่อมีการส่งตัวแทนชาวบ้านชุดแรกจำนวน 5 คน ไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ชาวบ้านก็กลับมาปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตร น้อมนำเอาศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในพื้นที่ของตนเอง ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการออกแบบพื้นที่หลุมขนมครก ลงมือขุดหนองและทำนาขั้นบันไดร่วมกับชาวบ้านมาตลอดตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบัน และมีการติดตามผลงานและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวทางการทำงาน คือ มุ่งสร้างพื้นที่รูปธรรม เน้นการสร้างคน และการบริหารการจัดการพื้นที่ ไม่รุกป่า โดยลงมือทำตัวอย่างให้เห็นว่า จากที่ต้องปลูกข้าวโพด 100 ไร่ สามารถปลูกพืชในพื้นที่ 10 ไร่ ที่ก็มีผลผลิตพอกินพอใช้ ไม่ต้องเป็นหนี้แล้ว นอกจากนั้น ต้องหาวิธีเก็บกักน้ำให้ได้ 100% โดยการขุดบ่อ ทำนาขั้นบันได ทำหัวคันนาให้สูง คันนาใหญ่ ปลูกแฝกยึด ขุดบ่อ ทำฝายดักน้ำจากลำห้วยมาเก็บ ถ้าน้ำไหลก็ใช้การตะบันน้ำมาเก็บ ในที่สูงก็ใช้โซลาร์เซลล์ดึงน้ำขึ้นมาเก็บ และปลูกป่า 4 อย่างให้ประโยชน์ 3 อย่าง ที่ให้พืชผลที่กินได้ตลอดทั้งปี”

จากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำกินของบ้านห้วยกระทิง ที่เริ่มจาก 1 แปลง จนในปีต่อมาได้ขยายพื้นที่เป็น 27 แปลง ทำให้สามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดได้ถึง 300 กว่าไร่ (ข้อมูลปี 2558) ซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมนี้ นับเป็นการขยายผลจากโครงการฯ และขับเคลื่อนโดยเครือข่ายที่เน้นการ “ปลูกคน สร้างป่า” เพื่อให้เป็นตัวอย่างการจัดการพื้นที่ตามหลักภูมิสังคม ด้วยศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน 

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ยังคงเดินหน้าฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยศาสตร์พระราชาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จึงขอเชิญชวนบุคคลและประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็นต้นแบบลุ่มน้ำแห่งการจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า-คน อย่างยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 ถึงวันพุธที่ 7 กันยายนนี้ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์รายละเอียดกิจกรรม และการให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ลุ่มน้ำผ่านทางสื่อต่าง ๆ รวมถึงทางเฟซบุ๊ค www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking