เริ่มแล้ว “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 4 เฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 ครองราชย์ 70 ปี  5 ภาคีเครือข่ายรวมพลังสร้าง “ป่าสักโมเดล” ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบตามศาสตร์พระราชา ที่ห้วยกระแทก จ.ลพบุรี

เริ่มแล้ว “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 4 เฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 ครองราชย์ 70 ปี 5 ภาคีเครือข่ายรวมพลังสร้าง “ป่าสักโมเดล” ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบตามศาสตร์พระราชา ที่ห้วยกระแทก จ.ลพบุรี

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 4

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ พร้อมภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชนกว่า 1,500 คน ร่วมพิธีเปิดในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 4 สร้างศูนย์การเรียนรู้ “ป่าสักโมเดล” ในพื้นที่ห้วยกระแทก จังหวัดลพบุรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 70 ปี ในปี 2559  และเพื่อเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านศาสตร์พระราชา แก้ปัญหาดิน-น้ำ-ป่า-คน อย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมรณรงค์ ตั้งแต่วันที่ 3-7 กันยายนนี้  โดยมีดารานักแสดง คือ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์  ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และเก้า-จิรายุ ละอองมณี ร่วมอาสาลงมือปฏิบัติตามรอยพ่อ

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฯ กล่าวว่า “โครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ได้ดำเนินมาสู่ปีที่ 4 แล้ว ซึ่งโครงการฯ ในปีนี้มุ่งต่อยอดแนวทางขับเคลื่อนจากการสร้างคน สร้างเครือข่าย สู่การสร้างศูนย์เรียนรู้ ที่เรียกว่า ‘ป่าสักโมเดล’ ในพื้นที่ห้วยกระแทก จ.ลพบุรี ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านการจัดการน้ำ ในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิต เพื่อให้ประชาชนได้มาเรียนรู้การสร้างหลุมขนมครกเพื่อกักเก็บน้ำในรูปแบบที่แตกต่างกันตามภูมิสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำในที่ลุ่มแบบ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ การจัดการน้ำบนที่สูงแบบ ‘เปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นเขาหัวจุก’ พร้อมกับการสร้างแท็งก์น้ำยักษ์มาตรฐานโจนและระบบกรองน้ำดื่ม โดยใช้โครงไม้ไผ่ที่สามารถทำเองได้ในต้นทุนที่ถูก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรและเพื่อมีน้ำสะอาดดื่ม กิจกรรมอบรมเรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติในฐานต่าง ๆ อีกทั้งการเสวนา กิจกรรมความรู้และวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงการเดิน-วิ่ง-ปั่นจักรยานรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนัก ศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ และเยี่ยมเยียนเครือข่าย ตลอด 5 วันของการดำเนินกิจกรรมนี้จะได้เห็น ‘พลังคน’ จากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ วิชาการ เอกชน ประชาชน ‘คนมีใจ’ ดารานักแสดงซึ่งเป็นตัวแทนของภาคสื่อมวลชน และภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งจากทั่วประเทศ ที่มารวมตัวกันเพื่อร่วมเรียนรู้ ปฏิบัติ และเผยแพร่ศาสตร์พระราชาเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะส่งผลถึงการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ อันหมายถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยที่ดีขึ้นอีกด้วย” 

ด้าน ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ในฐานะภาคีภาควิชาการผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฯ กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อสร้าง ‘ป่าสักโมเดล’ ในครั้งนี้ เกิดจาก ‘พลังสามัคคี’ ของคนมีใจและเครือข่ายที่เข้มแข็งต่าง ๆ ที่ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาไปใช้และได้ผลจริง จึงนำมาช่วยกันขยายผลจากลุ่มน้ำป่าสักไปอีก 24 ลุ่ม ให้สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาการจัดการดิน-น้ำ-ป่า-คนได้แล้ว ยังแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้ด้วย ดังตัวอย่างที่ บ้านห้วยกระทิง จ.ตาก ที่ชาวบ้านทำแบบคนจน แบบเอาแรงลงแขกกัน สร้างเครือข่ายด้วยบุญและทาน โดยเดินตามหัวใจสำคัญของปรัชญาแห่งความพอเพียง คือ ‘ขาดทุนคือกำไร’ (Our Loss is Our Gain) ตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และจะไม่มีสิ่งใดที่จะถวายพระเกียรติพระองค์ท่านได้ดีไปกว่า การลงมือทำตามแนวทางที่พระราชทานไว้”

ด้าน พลโทธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ตัวแทนภาคีภาครัฐ กล่าวว่า “ทางหน่วยฯ ได้เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2556 ในปีนี้มีบทบาทมากขึ้น เพราะให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมในพื้นที่ห้วยกระแทก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ (ค่ายเอราวัณ) นอกจากนั้น ยังได้ร่วมสนับสนุนโครงการฯ ด้วยการปรับเป้าหมายของแก้มลิงห้วยกระแทก 1 และ 2 ที่มีความจุอ่างรวม 1,500,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มาสู่การสร้างหลุมขนมครกในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิต ให้ห้วยกระแทกเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบภายใต้ชื่อ ‘ป่าสักโมเดล’ ซึ่งประชาชนทั่วประเทศสามารถมาเรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกันตามศาสตร์ของพระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำกลับไปใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้จริงในพื้นที่ของตนเอง และหน่วยฯ ยังปรับภูมิทัศน์พื้นที่ เพื่อที่จะให้ ‘ป่าสักโมเดล’ สามารถเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ออกกำลังกาย ทั้งนี้ หน่วยฯ ยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ ใน จ.ลพบุรี เพื่อให้ ‘ป่าสักโมเดล’ แห่งนี้ เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อคนลพบุรีและประชาชนทั่วประเทศ”

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ตัวแทนภาคีภาคประชาชน กล่าวว่า “โครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ปีที่ 4 ทำให้ได้เห็น ‘พลังคน’ จำนวนมากจากทุกภาคส่วน ที่มาร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นใน จ.ลพบุรี โดยเฉพาะ ‘ป่าสักโมเดล’ ที่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา ทั้งนี้ ชาวลพบุรีพร้อมจะร่วมขยายผล และดูแลให้ ‘ป่าสักโมเดล’ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป”

นายวัชระ แวววุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ผู้ผลิตรายการ ‘เจาะใจ’ ภาคีเครือข่ายภาคสื่อมวลชน กล่าวว่า “เจ เอส แอล ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอเรื่องราวอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งศิลปินนักแสดงที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์  ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และเก้า-จิรายุ ละอองมณี โดยรายการจะนำภาพเหตุการณ์แบบเรียลลิตี้ เกาะติดการสร้าง ‘ป่าสักโมเดล’ ของเหล่าศิลปิน ‘คนมีใจ’ และ ‘เครือข่าย’ ที่เข้มแข็ง มาออกอากาศในรายการเจาะใจ จำนวน 3 ตอน คือ วันพฤหัสบดีที่ 3, 10 และ 17 พฤศจิกายน 2559 เวลา  21.05 น. ทาง MCOT HD ช่อง 30”

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 4 เดินหน้าฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยศาสตร์พระราชาอย่างต่อเนื่อง โดยรวมพลังเครือข่ายที่เข้มแข็งจากทั่วประเทศ ได้แก่ เครือข่ายสุรินทร์ของพระอาจารย์สังคม เครือข่ายกลุ่ม “คนเบื่อเมือง” โดยโจน จันได กลุ่มชาติพันธุ์จากที่สูงโดยอาจารย์ณัฐพงศ์ มณีกร สภาคริสตจักรในประเทศไทย เครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เครือข่ายลุ่มน้ำป่าสัก นักปั่นสะพานบุญ ทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พนักงานบริษัทเชฟรอน ประชาชนชาวลพบุรี ตลอดจน อาสาสมัครภาคประชาชนกว่า 1,500 คน ร่วมสร้าง “ป่าสักโมเดล” ณ ห้วยกระแทก จ.ลพบุรี เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบแห่งแรกในลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อการจัดการดิน-น้ำ-ป่า-คน อย่างยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 3-7 กันยายน 2559 ณ ห้วยกระแทก อ.เมือง จ.ลพบุรี ติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ ได้ที่  www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking