ผู้ใหญ่อ้อย หญิงแกร่งแห่งกองกำลังรถขุด “หลุมขนมครก” ร่วมสู้วิกฤตภัยแล้ง ตามรอยศาสตร์พระราชา

ผู้ใหญ่อ้อย หญิงแกร่งแห่งกองกำลังรถขุด “หลุมขนมครก” ร่วมสู้วิกฤตภัยแล้ง ตามรอยศาสตร์พระราชา

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 3

ช่วงวิกฤติภัยแล้งที่ผ่านมา หลายพื้นที่ประสบปัญหาอย่างรุนแรง แต่สำหรับพื้นที่ 19 ไร่ ของผู้ใหญ่อ้อย หรือ นางอุทุมพร สุขแพทย์ ผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ 8 สามัคคี ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี กลับไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด นั่นเป็นเพราะเธอเดินตามศาสตร์พระราชา ด้วยการปรับพื้นที่ทำกินของเธอให้เป็น “หลุมขนมครก” มีการขุดหนองน้ำขนาดลึกและใหญ่ ขุดคลองไส้ไก่ลำเลียงน้ำ จะปั้นหัวคันนาให้สูง เธอจึงยังคงมีน้ำพอใช้ในการปลูกข้าวและพืชผักสวนครัวรอบ ๆ ยังมีน้ำในหนองที่ขุดพอแบ่งปันให้เพื่อนบ้านรอบข้างใช้ ในช่วงวิกฤตถึงขั้นการประปาลพบุรีไม่มีน้ำจ่ายอีกด้วย

ภาพผู้หญิงยืนสั่งการรถแบคโฮขนาดใหญ่หลายคันให้ขุดดินเป็นภาพที่อาจไม่เห็นบ่อยนัก เพราะผู้หญิงน้อยคนที่สามารถขับรถแบคโฮได้ แต่สำหรับคนรอบหมู่บ้านในตำบลนิคมสร้างตนเองและคนในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ชื่อของ “ผู้ใหญ่อ้อย” เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรถขุด ที่มีรถแบคโฮและรถบรรทุกในครอบครองมากกว่า 10 คัน ซึ่งพร้อมจะไปขุดปรับพื้นที่ ขุดบ่อ ขุดหนองน้ำ ขุดคลองไส้ไก่ หรือโกยดินพูนขึ้นเป็นโคกให้ปลูกป่า เพื่อทำ “หลุมขนมครก” ไว้เก็บกักน้ำให้กับชาวบ้านและชุมชนคนมีใจไม่ว่าจะอยู่ที่จังหวัดใด ที่มีใจจะทำตามศาสตร์พระราชา โดยไม่คิดค่าแรงแต่อย่างใด 

ทำไมผู้ใหญ่อ้อยจึงอุทิศตัวเสียสละทำงานหนักเพื่อสังคม ทั้งที่ฐานะเธอเข้าขั้นเศรษฐีนี ไม่ต้องทำงานก็สามารถอยู่ได้สบาย ๆ  เธอเล่าว่า “พี่ไม่ต้องการเห็นความแตกแยกในชุมชน ไม่ต้องการเห็นการเอารัดเอาเปรียบ จึงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพื่อสานต่องานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 หรือพ่อหลวงของเรา ดังคำพ่อที่ว่า คนเก่งมิใช่คนดีเสมอไป ต้องการคนดีให้มาช่วยกันทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เมื่อปีที่แล้วพี่เข้ารับอบรมที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นรุ่นที่ 1 และได้ไปทำกิจกรรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จึงอาสาทำงานตามรอยพ่ออย่างเต็มตัว”  

นางอุทุมพร สุขแพทย์ ก่อนจะมาเป็นผู้ใหญ่อ้อย เคยทำงานผลิตรายการโทรทัศน์และจัดอีเว้นท์ต่าง ๆ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตในบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เริ่มแรกเธอก็เหมือนเด็กจบใหม่ทุกคนที่ต้องการทำงานในสายงานที่ร่ำเรียนมา เธอสนุกกับงานที่ทำมาก จนวันหนึ่งลูกน้องในสายงานพลัดตกจากนั่งร้านขณะทำงานได้รับบาดเจ็บสาหัส เธอรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่คำแรกที่โรงพยาบาลบอกคือ ต้องจ่ายเงินสดบางส่วนก่อนรักษาพยาบาล เธอรีบขอความช่วยเหลือจากบริษัท แต่คำตอบที่ได้รับคือให้รอประกัน เธอจึงตัดสินใจรูดบัตรเครดิตส่วนตัวไปก่อน แต่ที่สุดลูกน้องก็เสียชีวิต เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอเห็นถึงความไร้มนุษยธรรมของคนบางกลุ่ม จึงตัดสินใจลาออกและหันหลังกลับบ้านก้าวสู่อาชีพเกษตรกรตามรอยบรรพบุรุษ 

เริ่มต้นผู้ใหญ่อ้อยก็ไม่ต่างจากชาวนาทั่ว ๆ ไป ที่ใช้เคมีทำนาเพราะเชื่อว่าได้ผลผลิตเร็ว จนวันหนึ่งมีคนงานป่วยจากสารเคมี จึงเริ่มคิดว่าไม่ต้องการให้คนกินข้าวต้องมาตายผ่อนส่ง ได้รับสารพิษจากน้ำมือของเธอ ผู้ใหญ่อ้อยจึงหันไปศึกษาหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 อย่างจริงจัง และหันกลับทำเกษตรอินทรีย์ แต่....จุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้เธอตั้งปณิธานว่าจะอุทิศชีวิตเพื่อสังคมตลอดไปคือ เธอเสียลูกชายด้วยอุบัติเหตุ วินาทีนั้นเหมือนโลกทั้งใบของผู้ใหญ่อ้อยแตกสลาย ทุกสิ่งในชีวิตที่หามา เงินทองมากมาย ไม่มีความหมาย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกว่าทรัพย์สินเงินทองเป็นของมายา ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง 

หลังจากทำใจได้ เธอจึงเริ่มทำงานให้ชุมชน สมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านหญิงที่มีลูกบ้านมากถึง 3,000 คน จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน” เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่มีหนี้สินให้มีอาชีพเสริมนอกเหนือฤดูทำนา สร้างอาชีพให้สตรีในชุมชน เนื่องจากในพื้นที่มีมะพร้าวเยอะ จึงประยุกต์โดยนำกะลามะพร้าวมาเผาถ่าน แปรรูปจากถ่านเป็นสบู่ เรียกว่า สบู่สมุนไพรถ่านกะลามะพร้าว เป็นที่เดียวในประเทศไทย และเป็นสินค้า OTOP ได้รับรางวัล 3 ปีซ้อน สร้างรายได้ให้ชุมชนมากมาย นอกจากนี้เธอยังดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ประธานกองทุนหมู่บ้าน ประธานบทบาทสตรี ประธานกลุ่มผู้ผลิตสบู่สมุนไพรถ่านกะลามะพร้าว 

และล่าสุดผู้ใหญ่อ้อยอาสาร่วมโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3 อันเกิดจากความร่วมมือของภาคีทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รวมทั้งภาครัฐและประชาชน ที่พร้อมใจเดินหน้าฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยศาสตร์พระราชา มีเป้าหมาย ‘แสนหลุม ขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสัก อย่างยั่งยืน’ โดยผู้ใหญ่อ้อยเป็นหนึ่งในคนมีใจที่ปรับพื้นที่ขนาดใหญ่ของตนเป็นหนึ่งใน “หลุมขนมครก” เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนรอบข้าง โดยอาสา รับขุดปรับพื้นที่ให้ผู้สนใจทำหลุมขนมครกโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน 

“จากการทำงานที่เราได้ให้แก่ผู้อื่นในหลาย ๆ เรื่อง สิ่งได้รับกลับมามีค่ายิ่งกว่าคือ ความสุขใจ ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรแล้ว ทรัพย์สินเงินทองเป็นของนอกกาย ตายไปก็เอาไปไม่ได้ แต่คุณความดีที่เราทำให้สังคมต่างหากจะอยู่ติดตัวเราตลอดไป...” หญิงแกร่งแห่งกองกำลังรถขุดกล่าวไว้”