พิธีเปิด “รวมพลังตามรอยพ่อฯ ” ปี 3  แสดงพลังยิ่งใหญ่เพื่อต้านภัยแล้ง  ชวนให้เป็น “หนึ่ง” ในแสนหลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน

พิธีเปิด “รวมพลังตามรอยพ่อฯ ” ปี 3 แสดงพลังยิ่งใหญ่เพื่อต้านภัยแล้ง ชวนให้เป็น “หนึ่ง” ในแสนหลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน

ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการปี 3

“บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด” จับมือ “สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง” “มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ” “จังหวัดลพบุรี” “หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ” “พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง” “รายการเจาะใจ” พร้อมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเกือบ 2,000 คน ร่วมแสดงพลังสร้างสรรค์ เดินหน้าฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยศาสตร์พระราชา ในพิธีเปิดโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3 หวังบรรลุเป้าหมาย ‘แสนหลุม ขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสัก อย่างยั่งยืน’ ผ่านกิจกรรมรณรงค์ เรียนรู้ และลงมือทำ เดินทาง 9 วัน ตั้งแต่ 18-26 กรกฎาคม รวมระยะทาง 433 กม. จากโรงเรียนสงครามพิเศษ ถึงป่าซับลังกา จ.ลพบุรี โดยมี 4 ศิลปิน แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และเก้า-จิรายุ ละอองมณี ร่วมอาสาตามรอยพ่อฯ

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า “จากวิกฤตภัยแล้งที่กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในขณะนี้ ยิ่งทำให้เรามุ่งมั่นที่จะแสดงพลังในการเดินหน้าต่อ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” อย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่ “หลุมขนมครก” ของเครือข่ายคนมีใจในลุ่มน้ำป่าสักที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2556 ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ มี “น้ำ” พอใช้และเพาะปลูก และมีพอเผื่อแผ่ให้เพื่อนบ้านรอบข้าง นับเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน จากการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน ด้านการบริหารจัดการและอนุรักษ์ลุ่มน้ำป่าสักตามแนวศาสตร์พระราชา โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ร.9 ทรงเปรียบลุ่มน้ำป่าสักทั้งลุ่มน้ำ คือ ถาดขนมครก หากทุกครัวเรือนปรับพื้นที่ทำกินของตนเองให้เก็บกักน้ำไว้ให้ได้ทั้งน้ำบนดินและใต้ดิน ก็เปรียบเสมือนแต่ละครัวเรือนเป็น “หนึ่งหลุมขนมครก” ที่สามารถรับมือสู้วิกฤตภัยแล้ง รวมไปถึงอุทกภัยได้เป็นอย่างดี

ผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดต้นแบบหลุมขนมครกจำนวน 27 รายในรูปแบบของบุคคล ชุมชน และโรงเรียนในจังหวัดเป้าหมาย อีกทั้งยังทำให้เกิดการยอมรับและเป็นที่สนใจในวงกว้าง ส่งผลให้มีผู้สนใจลงทะเบียนเพื่อรับการออกแบบหลุมขนมครกถึง 831 ราย ในปีนี้ เราต่อยอดจากความสำเร็จดังกล่าว โดยมุ่งเน้นเรื่องการออกแบบที่ดินทำกินเพื่อการจัดการน้ำและสร้างหลุมขนมครกในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถประยุกต์ให้เข้ากับขนาดที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะน้อยกว่า 100 ตารางวา หรือเป็นร้อยไร่ นอกจากนี้ เราจะเดินทางไปสัมผัสความสมบูรณ์ของ “ซับลังกา” ป่าสมบูรณ์ผืนสุดท้ายในเขตภาคกลางอันเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำของลุ่มน้ำป่าสักอีกแหล่งหนึ่ง ที่เราจะได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ”

ด้าน ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำป่าสักด้วยศาสตร์พระราชาว่า “โมเดลการขับเคลื่อนภาคประชาชนใน ‘โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ประสบความสำเร็จมากจนสามารถนำเสนอเป็นหนึ่งในโมเดลเพื่อถอด "กระบวนการและกลไกการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม" ในคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับโมเดลอื่น ๆ อาทิ โมเดลแม่ทา โมเดลนาแลกป่า โดยโครงการตามรอยพ่อฯ เน้นความร่วมมือของ 5 ภาคี และการขยายผลโดยสื่อมวลชน ซึ่งแตกต่างจากโมเดลอื่น ๆ ขณะนี้กรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำข้อเสนอปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้วย 7 กลไกขับเคลื่อนหนุนเสริม โดยมี 5 กระบวนการมีส่วนร่วม คือ 1. รับรู้เรียนรู้ 2. ตัดสินใจวางแผน 3. ดำเนินการ 4. ติดตามตรวจสอบ 5. ร่วมรับผล ซึ่งเป็นกระบวนของโครงการรวมพลังตามรอบพ่อฯ ในการเผยแพร่แนวคิดการทำ “หลุมขนมครก” นั่นเอง ทั้งหมดนี้เพื่อส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต”

“ที่เรามารณรงค์กันที่ จ.ลพบุรีนั้น เพราะมีจุดเด่นอยู่ 3 ประการ คือ ประการแรกเพราะเป็นที่ตั้งของเขื่อนป่าสัก แต่มีปัญหาเรื่องภูเขาหัวโล้นมากที่สุด ประการที่สองเพราะมีป่าดิบผืนสุดท้ายของภาคกลาง หรือ ป่าซับลังกา ที่เป็นป่าเก็บน้ำได้อย่างสมบูรณ์ ทุกคนจึงต้องปกป้องรักษาไว้และสร้างป่าเพิ่มให้ได้ สุดท้ายคือ เรื่องคน เพราะที่จังหวัดนี้มีหน่วยสงครามพิเศษที่ใช้สมอง มวลชน และแรงศรัทธา รวมทั้งมีการตั้งศูนย์ฝึกอบรมให้ชาวบ้านร่วมลงมือรักษาพื้นที่ลุ่มน้ำด้วย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนี้ จะทำให้ลุ่มป่าสักกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการน้ำได้อย่างแท้จริง”

ด้าน นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า “รู้สึกยินดียิ่งที่โครงการตามรอยพ่อฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสักขึ้นในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ในฐานะเจ้าบ้านขอทำหน้าที่ต้อนรับแทนชาวลพบุรีทุกคน และจากการติดตามโครงการฯ มาตลอด ได้เห็นความตั้งใจจริง การทำงานอย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดลพบุรีเองก็มีแนวคิดน้อมนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาปฏิบัติ คือการขุดบ่อน้ำในพื้นที่ลพบุรี ตั้งเป้าหมาย ‘1 บ้าน 1 บ่อ’ เพื่อให้ทุกบ้านมีบ่อน้ำเป็นของตัวเอง แก้ปัญหาภัยแล้งและเพื่อสนองตอบต่อพระราชดำรัสเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” 

พลโทเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บังคับบัญชาหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้กล่าวถึงภารกิจทหาร ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและทรัพยากรธรรมชาติว่า “ภารกิจของทหารนอกจากการปกป้องอธิปไตยของชาติแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และโครงการตามพระราชดำริด้วย สืบเนื่องจากเมื่อปี 2556 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้มีโอกาสรับชมละครเฉลิมพระเกียรติ “เย็นศิระน้ำพระทัย” ที่นำเรื่องราวมาจากโครงการ และสั่งการให้หน่วยทหารทุกหน่วยส่งกำลังพลเข้ารับการอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง โดยมีภารกิจสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในทุกหน่วยทหาร ซึ่งหน่วยฯ ได้ส่งกำลังพลเข้าอบรมและกลับมาสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และได้จัดฝึกอบรมให้กับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงถึง 3 รุ่นแล้ว รวมทั้งร่วมกับจังหวัดลพบุรี และกรมชลประทาน ดำเนินการขยายพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยกระแทก ทำให้สามารถจุน้ำเพิ่มขึ้น 1 ล้านลูกบาศก์เมตร”

ส่วน ผศ. พิเชษฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “นับเป็นมิติใหม่ครั้งแรกของการศึกษาไทย ที่สถาปนิกได้มีโอกาสนำความรู้มารับใช้ชาวนาช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศ นั่นคือ ปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้วยแนวคิดในการสร้างระบบนิเวศย่อย ๆ ขึ้นมาในพื้นที่ของตัวเอง สถาบันฯ ให้ความสำคัญของการนำงานวิจัยลงสู่การแก้ไขปัญหาชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ด้านภูมิสังคม สถาบันฯ เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในโครงการฯ ตั้งแต่ปีแรก จึงเกิดการต่อยอดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อทำงานร่วมกัน เริ่มจากนำความรู้ด้านการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตย์เข้าไปประยุกต์ใช้ได้อย่างสมบูรณ์ สู่การเปิดศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ โดยจะทำงานร่วมกับ GISTDA เพื่อนำข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศ มาผสานกับศาสตร์ของในหลวง ร.9 และภูมิปัญญาท้องถิ่น ลงสู่การปฏิบัติร่วมกับเกษตรกรเจ้าของพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการพื้นที่ ดิน และน้ำอย่างจริงจัง”

ด้านนางรติวัลคุ์ ศรีมงคลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ผู้ผลิตรายการ ‘เจาะใจ’ กล่าวว่า “ในฐานะที่ เจ เอส แอล เป็นสื่อที่มุ่งมั่นนำเสนอเรื่องราวที่ดีมีประโยชน์ต่อผู้ชม จึงสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงช่วยจุดกระแสสังคมให้ตื่นตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ในปีนี้ศิลปินนักแสดงที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมได้แก่ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ บอย-พิษณุ นิ่มสกุล และเก้า-จิรายุ ละอองมณี ที่ต่างมีความเข้าใจในโครงการมากขึ้นเรื่อย ๆ จนลงมือทำเอง รายการจะติดตามภาพเหตุการณ์แบบเรียลลิตี้ เกาะติดตลอดเส้นทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อนำมาออกอากาศในรายการเจาะใจ จำนวน 3 ตอน คือ วันพฤหัสบดีที่ 11, 18 และ 25 กันยายน 2558 เวลา 22.20 น. ทางช่อง ONE ซึ่งมีฐานผู้ชมเป็นคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน” 

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 3 เป็นการรวมพลังเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ทหาร พนักงานบริษัทเชฟรอน อาสาสมัครภาคประชาชน นักปั่นสะพานบุญ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ เด็กนักเรียนโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย พระสงฆ์ สามเณร ชาวบ้านในพื้นที่ และประชาชนทั่วไป เกือบ 2,000 คน ร่วมช่วยกันลงมือทำตามศาสตร์พระราชา เพื่อให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็นต้นแบบลุ่มน้ำแห่งการจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า-คน อย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคมนี้ ติดตามรายละเอียดกิจกรรม และการให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ลุ่มน้ำผ่านทางสื่อต่าง ๆ รวมถึงทางเฟซบุ๊ค ‘รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน‘