การย่ำขี้เพื่อลดการรั่วซึมของแหล่งน้ำ

การย่ำขี้เพื่อลดการรั่วซึมของแหล่งน้ำ

การย่ำขี้เพื่อลดการรั่วซึมของแหล่งน้ำ

มูลสัตว์นั้นนอกจากมีประโยชน์ในการใช้ทำเป็นปุ๋ยเพื่อปรับปรุงบำรุงดินแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ยาพื้นดินเพื่อให้น้ำไม่ซึม เช่น ใช้ยาลานตากข้าว หรือยาก้นบ่อหรือหนองน้ำโดยรอบ เพื่อกันน้ำซึมออกจากหนองน้ำอันจะทำให้หนองน้ำนั้นกักเก็บน้ำไม่อยู่ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับพื้นที่ที่เป็นดินร่วน ดินทราย หรือดินลูกรัง ที่กักเก็บน้ำไม่ได้เพราะน้ำจะซึมผ่านชั้นดินออกไป

มูลสัตว์ที่ใช้ ควรเลือกมูลวัวหรือมูลควาย เพราะเป็นสัตว์ที่กินหญ้าหรือพืช มูลจึงมีเส้นใยของพืชประเภทเซลลูโลสผสมอยู่ ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งและไม่ละลายน้ำ เมื่อนำมาย่ำผสมกับน้ำคลุกกับผิวดินโดยเพิ่มฟางและแกลบดิบเพื่อให้สามารถยึดเกาะได้ดีขึ้นแล้วทิ้งให้แห้ง จะประสานสานกันเป็นแผ่นช่วยยึดหน้าดินได้ดีขึ้น  นอกจากนั้นมูลสัตว์สดยังมีความเป็นไขสูงจะช่วยเคลือบผิวดินให้มีคุณสมบัติกันน้ำมากขึ้น อีกทั้งการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ จะแทรกเข้าไปอุดช่องว่างในเนื้อดิน เป็นตัวประสานทำให้ดินยึดเกาะติดกัน จึงทำให้ช่วยลดการรั่วซึมของน้ำได้

เมื่อเปรียบเทียบกับการปูด้วยพลาสติกหรือซีเมนต์ ซึ่งน้ำจะไม่รั่วซึมออกมาเลย การย่ำขี้เสริมฟางสามารถกักเก็บน้ำได้โดยที่ยังมีน้ำส่วนหนึ่งซึมผ่านได้เพื่อกระจายความชุ่มชื้นให้กับดินโดยรอบได้

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศให้กับบ่อน้ำ เพราะมูลสัตว์ทำให้เกิดแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ เช่น หนอนแดง และไรแดง อันเป็นอาหารของกุ้ง หอย ปู และปลา

ขั้นตอนการย่ำขี้เพื่อลดการรั่วซึม

  1. เทมูลวัวหรือมูลควายเปียกลงในบริเวณที่ต้องการ
  2. รดน้ำให้ชุ่มจนเป็นดินเลน
  3. เติมฟางหรือแกลบดิบลงไปเพื่อเพิ่มปริมาณของเส้นใย

อัตราส่วน

  • ฟาง 1 ส่วน : มูลวัว / มูลควาย 1 ส่วน หรือฟาง 1 ก้อน : มูลวัว / มูลควาย 3-4 ถุงปุ๋ย
  • น้ำหมักรสจืด 1 ลิตร ผสมน้ำใส่บัวรดน้ำราด
  1. เหยียบย่ำให้มูลสัตว์ ดิน และส่วนผสมอื่น ๆ ให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน
  2. นำส่วนผสมที่ผสมเข้ากันดีแล้วยาหรือฉาบบริเวณผนังและก้นหนองน้ำให้ทั่ว โดยยาหรือฉาบจากก้นหนองขึ้นไปจนถึงขอบหนอง แล้วยาปิดขอบหนองน้ำให้สนิท เพื่อป้องกันการชะล้างเมื่อฝนตก
  3. ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท
  4. ทำตามขั้นตอนเดิมซ้ำอีก 1 รอบ ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ก่อนเติมน้ำลงหนอง
  5. สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการกันซึมได้โดยทำซ้ำในทุกฤดูแล้ง

ด้วยภูมิปัญญาของบรรพชน การย่ำขี้ยาบ่อด้วยมูลสัตว์ สามารถนำมาใช้เพื่อลดการรั่วซึมของหนองน้ำได้อย่างดี โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหนืออื่นใดยังได้ความสนุกสานและความสามัคคียามที่ได้มาทำงานร่วมกัน