การทำฝาย

การทำฝาย

การสร้างฝายชะลอน้ำเป็นการบริหารจัดการน้ำจากธรรมชาติที่ทำให้พื้นที่ของเรามีน้ำใช้และให้ประโยชน์ได้มากที่สุด

การสร้างฝายชะลอน้ำเป็นการบริหารจัดการน้ำจากธรรมชาติที่ทำให้พื้นที่ของเรามีน้ำใช้และให้ประโยชน์ได้มากที่สุด ฝายมีหลายประเภท ได้แก่ ฝายถาวร ฝายชั่วคราว และฝายกึ่งถาวร

  • ฝายถาวร เป็นฝายคอนกรีตมีความทนทาน แต่ใช้ต้นทุนและแรงงานในการก่อสร้างสูง
  • ฝายชั่วคราว สร้างจากวัสดุธรรมชาติ สภาพไม่คงทน ไม่เหมาะกับการใช้งานในระยะยาว
  • ฝายกึ่งถาวร ผสมผสานระหว่างวัสดุตามธรรมชาติร่วมกับวัสดุก่อสร้าง ทำให้มีความคงทนและสามารถทำเองได้ไม่ยาก เหมาะกับพื้นที่ต้นน้ำที่มีทางน้ำไหลคดเคี้ยวตามธรรมชาติ และพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง

การทำฝายกึ่งถาวร สร้างด้วยวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ง่ายในบริเวณนั้น ได้แก่ ไผ่ ท่อนไม้ กิ่งไม้ และก้อนหิน โดยใช้หินเป็นวัสดุหลักในการเสริมสร้างความแข็งแรงทนทาน  ฝายจะมีอายุการใช้งานได้ยาวนานตั้งแต่ 3-5 ปี  การสร้างฝายควรให้มีขนาดความสูงไม่เกิน 80 เซนติเมตร  สร้างฝายให้ถี่ และแข็งแรง โดยไล่ระดับลงมาตั้งแต่ต้นน้ำจนสุดร่องน้ำ นอกจากนี้ควรมีทางน้ำล้น (Spillway) เพื่อให้น้ำซึมไหลผ่านกระจายความชุ่มชื้น ช่วยซับน้ำลงดิน ให้สัตว์น้ำสามารถวางไข่ได้

ประโยชน์ของฝายกึ่งถาวร ได้แก่

  1. ชะลอความเร็วของน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง
  2. ดักตะกอนหน้าดินที่ไหลลงมาจากต้นน้ำ
  3. สร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
  4. เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับเกษตรกร