วริสร รักษ์พันธุ์

วริสร รักษ์พันธุ์

ผู้อำนวยการฐานธรรมธุรกิจ ชุมพรคาบาน่า
ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน จ.ชุมพร

ครูนักสู้วิกฤต สร้างธุรกิจแห่งการให้

จากจุดเริ่มต้นในวัยเยาว์ที่ครอบครัวปลูกผัก แปรรูปผลผลิต และทำกับข้าวกินเอง วริสรจึงให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ โดยเลือกเฟ้นวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหาร กอปรกับการได้เรียนรู้การพึ่งตนเอง การทำบุญ-ทำทาน การแปรรูป การค้าขาย และการมีเครือข่าย ไม่ต่างจากการดำเนินชีวิตตามบันได 9 ขั้น อันเป็นชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่เป็นต้นทุนชีวิตหล่อหลอมให้เขาเป็นเช่นทุกวันนี้

วริสรเกิดที่กรุงเทพมหานคร ในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นชาวชุมพร เมื่อจบการศึกษาด้านการโรงแรมและได้กลับมาอยู่บ้าน ทำให้เขาได้เผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดชุมพรจากพายุโซนร้อนซีต้า เมื่อ พ.ศ. 2540 ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ผู้อำนวยการกองงานส่วนพระองค์มาให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชุมพร และเฝ้าติดตามผลการดำเนินงานทุกระยะ ทั้งได้ทรงมีพระราชดำริให้เร่งรัดขุดคลองหัววัง-พนังตัก ซึ่งเป็นคลองที่ขุดยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อช่วยระบายน้ำจากคลองท่าตะเภาลงสู่ทะเล โดยพระราชทานทรัพย์ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งแล้วเสร็จก่อนที่พายุลินดาจะเข้าเพียง 2 วัน จึงทำให้น้ำไม่ท่วมจังหวัดชุมพร

ในครานั้น วริสรได้เห็นการทำงานของกองงานส่วนพระองค์ที่มาพักที่ชุมพรคาบาน่า ซึ่งครอบครัวดำเนินกิจการอยู่ จึงเกิดความประทับใจและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เขาได้พบคำตอบของการมีชีวิตที่เคยสงสัยว่า “คนเราเกิดมาเพื่ออะไร” โดยตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินชีวิตโดยการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

พึ่งตนเอง รู้จักพอ รู้จักทาน ในสถานการณ์วิกฤตโลก

ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้เกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จากที่ต้องเผชิญกับวิกฤตอุทกภัยที่ทำให้น้ำท่วมแล้ว ยังเกิดวิกฤต “หนี้ท่วม” และตามด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ “แฮมเบอร์เกอร์” ในปี พ.ศ. 2551 เข้ามาซ้ำเติมจนถึงกับถูกฟ้องล้มละลาย ที่ดินชายทะเลอันสวยงามและสมบูรณ์บนหาดทุ่งวัวแล่นของชุมพรคาบาน่า เป็นที่หมายปองของต่างชาติ แต่การแก้ปัญหาด้วยการขายทอดตลาด เป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจผู้เป็นมารดา เมื่อตัดสินใจไม่ขายเขาจึงต้องสู้ให้สุดทาง

เขาสนใจในแนวทางศาสตร์พระราชา จึงไปศึกษาดูงานเพื่อหาความรู้ จนวันหนึ่งลูกค้าที่มาพักกี่ชุมพรคาบาน่าได้แนะนำให้เขาได้รู้จัก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) เมื่อได้ฟังการวิเคราะห์สถานการณ์โลกที่มีเรื่องความขัดแย้ง เอารัดเอาเปรียบกัน การที่เราจะอยู่รอดท่ามกลางความขัดแย้งต่าง ๆ  ให้ได้นั้น จะต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน รู้จักพอ และรู้จักทาน แล้วสร้างสังคมแห่งการให้ ด้วยแนวทาง “เกษตรทฤษฎีใหม่” และหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

โดย อ.ยักษ์ แนะนำให้ทำเรื่องของ “ทาน” คือ การให้ และยังหมายถึง การรับประทาน โดยเริ่มต้นจากการปลูกข้าวกินเอง ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ประยุกต์หลักกสิกรรมธรรมชาติมาใช้ในพื้นที่ ทำให้ร้านอาหารมีวัตถุดิบที่ดีขึ้น กิจการจึงดีขึ้นเรื่อย ๆ

ธุรกิจทฤษฎีใหม่ ในโรงแรมที่เป็นโรงเรียน

เมื่อได้ทำเรื่องการฝึกอบรมกับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติมาระยะหนึ่ง เขาจึงเกิดความคิดในการอุทิศพื้นที่นี้ให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยสร้างประโยชน์แบบมูลนิธิ แต่ยังเป็นธุรกิจแบบสัมมาอาชีพที่มีผู้คนมารวมกันเหมือนสหกรณ์ ด้วยการลงขันแบบมีส่วนร่วม และการลงขันแบบมีผลตอบแทน เกิดปรากฏการณ์การระดมทุนเพื่อเซฟชุมพรคาบาน่าขึ้นเพื่อปลดหนี้จำนวน 130 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ที่ดินตกอยู่ในมือของต่างชาติ จึงเกิดเป็น “ฐานธรรมธุรกิจ ชุมพรคาบาน่า” รัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม
เพราะชีวิตที่นี่สนุก ได้เรียนรู้ ได้เล่น จึงเกิดเป็นแนวคิด Play and Learn = Plearn อันเป็นที่มาของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ “เพลิน” ซึ่งกระบวนการที่ทำให้คนเข้าใจได้ง่ายที่สุดคือ การเรียนรู้จากการลงมือทำ โดยเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะแต่ละคนมีความชำนาญไม่เหมือนกัน สร้างบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการอยู่ร่วมกันให้เกิดขึ้น

จากภูผา สู่มหานที บนพื้นที่เรียนรู้รอบด้าน

บนบก มีโรงเรียนกสิกรรมธรรมชาติ ส่วนในทะเล มีโรงเรียนสอนดำน้ำ เมื่อโรงเรียนสีเขียวกับโรงเรียนสีครามมาบรรจบกัน เชื่อมโยงจากภูผาสู่มหานที ทั้งการใช้ชีวิตใต้ทะเล บนหาดทราย สันทราย สร้างความสัมพันธ์ของระบบนิเวศโดยใช้หลักกสิกรรมธรรมชาติให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ครบวงจร  
ด้วยรูปแบบของรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม เขาออกแบบการทำงานร่วมกับชาวประมงและเกษตรกร ให้สามารถกำหนดราคาสินค้าของตนเองได้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น อีกทั้งพัฒนาสินค้าด้วยการแปรรูปและขยายตลาดด้วยช่องทางต่าง ๆ สร้างแนวคิด “กินอย่างรู้ที่มา” เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และยังเป็นการดูแลธรรมชาติ

วริสรได้เข้าร่วมและติดตามกิจกรรมของโครงการฯ มาโดยตลอด ได้เห็น “พลังคน” ในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ด้วยพลังแห่งความสามัคคีสามารถทำให้สิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เกิดขึ้น ซึ่งได้สร้างพลังใจให้กับตนเอง

ความฝันอันสูงสุด

การมีวิสาหกิจเพื่อสังคมกระจายเต็มประเทศ และการมีฐานปฏิบัติการในทุกอำเภอ เป็นความฝันอันสูงสุดของเขา เพื่อให้ทุกคนสามารถพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกันได้เมื่อเกิดภัยต่าง ๆ แม้หนทางยังอีกยาวไกล แต่เขาก็ดีใจที่ได้ทำในสิ่งที่ตนรัก ได้เดินไปในทางที่ถูกต้องด้วยการตามรอยพ่อฯ ซึ่งเดินไปเมื่อไรก็เกิดประโยชน์เมื่อนั้น สังคมแห่งน้ำใจนี่แหละที่จะเป็นความหวังของเราทุกคน พลังแห่งการให้มันสร้างสรรค์โลกได้จริง