บุญลือ-บุญล้อม เต้าแก้ว

บุญลือ-บุญล้อม เต้าแก้ว

ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์
ต.หนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี

บุญลือ-บุญล้อม เต้าแก้ว พ่อลูกผู้เป็นครูที่หว่านเมล็ดพันธุ์ให้งอกงามไปทั่วผืนแผ่นดิน ด้วยการเป็นผู้ให้ความรู้ มุ่งมั่นอุทิศตนเพื่อสร้างความอยู่รอดอย่างยั่งยืนให้กับทุกคน

จากครอบครัวชาวนาที่ทำนาอย่างเดียว เกือบ 100 ไร่ บุญลือ เต้าแก้ว พบว่าการทำนานั้นมีรายได้เพียงทางเดียวแต่รายจ่ายมีมากมายรอบด้านเพราะต้องซื้อยาและซื้อปุ๋ย เมื่อทำนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเงินที่ได้ก็ต้องใช้หนี้จนแทบไม่เหลือ ทำอยู่ 10 ปีไม่ได้อะไร จึงคิดว่าที่ทำมานั้นไม่ถูกทาง เมื่อได้ไปดูงานเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่วัดมงคลชัยพัฒนา ในปี พ.ศ. 2535 และไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมโดยเรียนด้านการเกษตรต่อ รวมถึงการไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องเป็นรุ่นแรก ๆ ทำให้เขาได้พบกับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) เขาขนขวายหาทางเรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา และนำความรู้นั้นมาพัฒนาพื้นที่ของตนเอง

พ่อบุญลือเริ่มจากตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ใช้สารเคมี โดยจะใช้สารอินทรีย์ชีวภาพทั้งหมด ทดลองทำน้ำหมักชีวภาพสูตรต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างสูง เมื่อได้ลงมือทำเพียงหนึ่งถึงสองปีก็พบว่ามีอยู่ มีกิน มีใช้ มีปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพครบทั้งหมด แม้ชาวบ้านรอบข้างจะยังไม่เชื่อในสิ่งที่ตนทำ เพราะเห็นว่านาดี ๆ เอาไปขุดเป็นหลุมให้เป็นบ่อให้เสียพื้นที่  

เรียนรู้จากพ่อเปลี่ยนสู่ความพอเพียง

บุญล้อม เต้าแก้ว ลูกชายที่ไม่ได้อยากเป็นเกษตรกรเหมือนพ่อ เพราะเห็นว่าพ่อทำนามานานมีแต่หนี้สิ้น จึงออกไปค้าขาย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียที่ประเทศไทยเรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เกิดฟองสบู่แตกขายของไม่ได้ทำให้เขาเป็นหนี้เกือบ 300,000 บาท เมื่อไปไหนไม่รอดจึงต้องกลับมาอยู่บ้าน พ่อบุญลือสอนลูกชายด้วยการทำให้เห็น บุญล้อมจึงทำตาม ทั้งการปลูกพืชแบบผสมผสาน ขุดหนองน้ำและขุดร่องน้ำเพิ่ม พัฒนาการทำน้ำหมักสูตรต่าง ๆ ทำปุ๋ยหมักแห้ง ทำสมุนไพรป้องกันโรคและแมลง เขาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาจนทำให้สามารถพึ่งตนเองได้ เมื่อทำอยู่กับพ่อได้เพียง 2 ปี ก็สามารถปลดหนี้สินทั้งหมดได้

พัฒนาเป็นต้นแบบชีวิต ที่ไม่หยุดเรียนรู้

เมื่อการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างนั้นเกิดผลสำเร็จ จึงมีหน่วยงานต่าง ๆ นำคนเข้ามาศึกษาดูงาน จนเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงชุมชน  ใช้พื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้โดยเปิดให้คนเข้ามาศึกษาและนำความรู้ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง พัฒนาศูนย์ฯ อย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งจนประสบความสำเร็จ ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับพ่อบุญลือที่สามารถช่วยพัฒนาชีวิตของผู้ที่เดือดร้อนได้  

ในปีที่ 1 ของโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน (พ.ศ.2556) ได้เลือกพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม นับจากนั้นบุญล้อมจึงได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ได้ออกไปเห็นพื้นที่ต่าง ๆ สั่งสมความรู้และประสบการณ์ จากพื้นที่ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันทางภูมิสังคม นำมาปรับใช้และถ่ายทอดต่อไป  ผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ จึงไม่ใช่ไม่เพียงแค่เกิดงาน แต่ได้สร้างคนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ กระจายสู่ทั่วประเทศ พัฒนาตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ส่งต่อความรู้เป็นครูผู้ให้

ปี พ.ศ. 2560  ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ได้เริ่มเปิดอบรมอย่างเป็นระบบ มุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจที่ดีก่อนไปลงมือทำ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีหลักสูตรการอบรม 4 คืน 5 วัน ซึ่งในวันแรก ๆ ผู้เข้าอบรมอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่วันสุดท้ายก็จะได้คนที่เข้าใจและพร้อมเปลี่ยนจริง ๆ

การเป็นครูได้อย่างสมบูรณ์ คือ การให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน เมื่อมีแรงก็ให้แรง มีความรู้ก็ให้วิชาความรู้  เพื่อสร้างโอกาสในการดำรงชีพในสังคมให้กับทุกคน  โดยไปดูพื้นที่และให้คำปรึกษาแก่ทุกคนที่เข้าร่วมอบรมโดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ  การช่วยเหลือโดยการเป็นผู้ให้ ส่งต่อให้กับคนอื่น ๆ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขายึดมั่น เพื่อให้ทุกคนสามารถไปสร้างแหล่งอาหารของตนเองได้ เพื่อการพึ่งพาตนเองและสามารถอยู่รอดเมื่อเกิดวิกฤตต่าง ๆ  อีกทั้งส่งต่อความช่วยเหลือไปยังผู้ที่เดือดร้อนต่อ ๆ ไป ให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน

ความฝันอันสูงสุด

บุญลือและบุญล้อม ได้พบกับความสุขที่แท้จริงจากการเป็นผู้ให้ โดยมีรอยยิ้มเป็นสิ่งตอบแทนกลับมาเป็นพลังให้เขามุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป  เป้าหมายสูงสุดของพวกเขา คือ การได้สืบทอดศาสตร์พระราชาไปสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนมีอาหารการกิน ไม่อดอยาก และลุกขึ้นมาพัฒนาพื้นที่ของตนเอง

 
 
 

แผนที่

นำทางใน Google