โจน จันใด

โจน จันใด

ผู้ก่อตั้งพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์

โจน จันใด เกิดในชนบทที่ห่างไกลความเจริญของจังหวัดยโสธร ชีวิตวัยเยาว์ของเขาเป็นชีวิตที่มีความสุขที่สุด เพราะมีเสียงหัวเราะอยู่ทุกที่ แล้วความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นเมื่อมีโทรทัศน์เครื่องแรกเข้ามาในหมู่บ้าน เมื่อได้เห็นความเจริญของเมือง เทียบกับสภาพชีวิตในชนบท ทำให้เขารู้สึกต่ำต้อย อยากจะหนีจากความต่ำต้อยและความยากลำบาก จึงเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองกรุง เพราะคิดว่านั่นคือวิถีที่จะหลุดพ้น  

เขาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร 7 ปี ทำงานสารพัดอย่าง ทั้งยาม เด็กเสิร์ฟ และพนักงานโรงแรม แต่กลับพบว่าการทำงานหนักติดต่อกันหลายปีนั้นไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะยังกินอาหารไม่อิ่ม และไม่เคยมีเงินเหลือ จึงเกิดคำถามว่าหยาดเหงื่อแรงงานที่ทำไป ทำเพื่ออะไร หากความศิวิไลซ์ไม่ได้ทำให้คนมีความสุข ทำไมเราต้องทำงานมากขึ้นในขณะที่ร่างกายทุดลง เขาจึงตัดสินใจกลับบ้าน เมื่อกลับบ้านก็พบว่าทุกสิ่งทุกอย่างในหมู่บ้านเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่เหลือแม้แต่เงาของอดีตที่เคยเป็นมา ชาวบ้านทำงานมากขึ้น ปลูกข้าว ปลูกปอ เป็นผู้ผลิตอาหารแต่ไม่มีใครได้กินดี ผู้คนกินอาหารน้อยชนิดลง แต่ปริมาณมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย     

เขาตั้งใจที่จะผลิตสิ่งที่ดีอีกครั้งด้วยการพลิกฟื้นผืนดิน ปลูกพืชผักที่กินได้ ให้มีอยู่ มีกิน มีใช้ก่อน ให้สามารถพึ่งตนเองในปัจจัย 4 ได้ โดยเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เก็บขี้ควายและผักตบในหมู่บ้านมาถม เพียง 18 วัน ก็เกิดเป็นดินดำข้างใต้ให้นำไปใส่แปลงผัก สวนที่ทำมีผัก 50 ชนิด โดยปลูกทุกอย่างที่กินได้ แม่ซึ่งเคยใช้เงินเดือนละ 3,000 บาทเพื่อซื้ออาหารเลี้ยงคน 6 คน เมื่อมาทำสวนก็ไม่ต้องซื้อ และยังมีผลผลิตเหลือแจก เหลือขาย มีรายได้วันละ 200-300 บาท นี่คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป เมื่อสามารถพึ่งตนเองได้ในปัจจัยพื้นฐาน ทำให้มีอิสรภาพ เป็น “ชีวิตของคนที่มีชีวิต”

เรื่องที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การเก็บเมล็ดพันธุ์  โดยก่อตั้ง “พันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์” ขึ้น ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเมล็ดพันธุ์กำลังสูญหายไปจากโลก การที่เมล็ดพันธุ์สูญหายไปหมายถึงชีวิตของเกษตรกรที่จะต้องเป็นหนี้มากขึ้น เมื่อพึ่งตนเองไม่ได้ อิสรภาพของชีวิตก็ไม่มี โดยรวบรวมเมล็ดพันธุ์และแจกจ่ายให้กระจายกันปลูก เพื่อเป็นการรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ไม่ให้สูญหาย เพราะตราบใดที่ยังมีคนปลูก มีคนกิน เมล็ดพันธุ์จะไม่ตาย โดยมีอาสาสมัครมาจากทั่วโลก ซึ่งส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาวที่เหน็ดเหนื่อยกับชีวิต ต้องการหาทางเลือกใหม่ให้ชีวิต มาทดลอง มาเรียนรู้ ที่พันพรรณ ทุกคนมีอิสระได้ทดลองทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ ต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การพึ่งตนเอง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำเองทั้งหมด แต่เป็นการไม่พึ่งพาระบบใหญ่ โดยหันมาพึ่งกันเอง แลกเปลี่ยนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ด้วยเทคโนโลยีแบบบ้าน ๆ ผสมกับองค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) นำมาประยุกต์ ซึ่งเมื่อมารวมกับระบบธุรกิจของคุณพิเชษฐ โตนิติวงศ์ (หนาว) เกิดเป็น “ธรรมธุรกิจ” ธุรกิจที่เป็นธรรม ซึ่งกำไรที่คาดหวังไม่ใช่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเพิ่มทรัพยากรบนโลก การมีสุขภาพดีของผู้คน และการมีชุมชนสังคมที่ดี โดยรวบรวมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมาขายในราคาที่เป็นธรรม

เขาดีใจที่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ทำให้เห็นว่ายังมีภาคธุรกิจที่สนใจสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและยิ่งใหญ่ เพราะประเทศไทยขาดโครงการที่ยั่งยืนระยะยาวที่รักษาน้ำลงสู่แผ่นดิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราและคนรุ่นต่อไปอยู่รอด

เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของโจน จันใด คือ การได้เห็นเมล็ดพันธุ์เพิ่มปริมาณขึ้น เห็นคนกินผักมากกว่า 1,000 ชนิดต่อปี เห็นปลาน้ำจืดเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ชนิดต่อปี อยากให้ลูกหลานได้ชื่นชมสิ่งที่ตนเคยชื่นชมเมื่อตอนเป็นเด็ก ซึ่งเป็นความสุขและความอิ่มอกอิ่มใจ นั่นคือการสร้างทรัพยากร สร้างความอุดมสมบูรณ์ สร้างความหลากหลายทางพันธุกรรม หากทรัพยากรเพิ่มพูนขึ้น มนุษย์จะไม่มีวันอดอยากและขาดแคลน ความกลัวจะน้อยลง และนั่นคือ “อิสรภาพที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่”