อุดม-ละมัย อุทะเสน

อุดม-ละมัย อุทะเสน

อุดม อุทะเสน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 บ้านทุ่งเทิง ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย และ ละมัย อุทะเสน หัวหน้ากลุ่มบ้านทุ่งเทิง ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย

อุดมและละมัย อุทะเสน สองสามีภรรยา แห่งบ้านทุ่งเทิง อ.ด่านซ้าย จ.เลย ผู้นำชุมชนขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ด้วยการลงมือสร้าง โคก หนอง นา ในพื้นที่ภูเขาของตน เปลี่ยนดินที่เสื่อมสภาพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยการเรียนรู้การจัดการพื้นที่ตามศาสตร์พระราชา เพียงเวลา 1 ปี ดินซึ่งเคยปลูกต้นไม้ไม่ขึ้นก็อุดมสมบูรณ์จนมีผลผลิตพอกิน พอแบ่งปัน และขายสร้างรายได้ จนสามารถเพาะเมล็ดพันธุ์ สร้างต้นกล้าให้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ของบ้านทุ่งเทิง

แม่ละมัยเกิดในครอบครัวเกษตรกร เริ่มทำไร่ตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่ ข้าวและข้าวโพด ซึ่งมีวงจรชีวิตเหมือนเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มปลูก เพราะตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยา อีกทั้งอาหารการกินก็ต้องซื้อทั้งสิ้น ทำให้มีหนี้สินและปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมี เธอจึงคิดเปลี่ยนแปลงเพราะมองไม่เห็นทางรอดในวิถีทางเดิมที่ทำมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี เมื่อเครือข่ายต้นน้ำพุงชักชวนให้ไปดูงานเธอจึงได้ไปดูงานในหลายพื้นที่ เพื่อหาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการปลูกพืชผสมผสานและการแปรรูปผลผลิต จนได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ทำให้เธอและชาวบ้านทุ่งเทิงที่ตั้งใจเปลี่ยนแปลงได้ไปอบรมที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 14-17 ก.พ. 2562 ในครั้งนั้นชาวทุ่งเทิงได้รับรู้ว่าสารเคมีต่าง ๆ จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นได้แทรกซึมอยู่ในพื้นดินและแหล่งน้ำ ปนเปื้อนไปสู่พื้นที่ปลายน้ำ ทำให้พวกเขารู้สึกสะเทือนใจที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนพื้นราบได้รับสารพิษไปด้วย และตั้งใจว่าจะเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด

เมื่อกลับมาถึงเธอก็เริ่มลงมือทำทันที ในพื้นที่ 3 ไร่ โดยมีพ่ออุดมเป็นกำลังสำคัญในการสานฝันและเรียนรู้ไปด้วยกัน จนเขาได้โอกาสไปอบรมในรุ่นต่อมา นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาใช้ เริ่มจากการสร้างแหล่งน้ำ ขุดคลองไส้ไก่ให้พื้นที่ชุ่มชื้น ห่มดินเพื่อปรับสภาพดินที่เสื่อมสภาพ ปลูกแฝกป้องกันดินพังทลาย ปลูกพืชผสมผสาน และสร้างแหล่งอาหารทั้งผลไม้ พืชผักสวนครัว เป็ด ไก่ หมู ปลา กบ และอื่น ๆ เปลี่ยนพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้ให้อุดมสมบูรณ์จนไม่ต้องซื้ออาหารอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายผลผลิตทำให้สามารถลดหนี้สินลงได้ และพร้อมรับมือหากเกิดวิกฤตใด ๆ ขึ้น เหนืออื่นใด คือ ความสุขในครอบครัวและสุขภาพที่ดี
แปลงของพ่ออุดมมีพื้นที่ 35 ไร่ เริ่มขุดหนองน้ำเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2563 ทำโคก หนอง นา 6 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกข้าว และพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกไม้ป่า เพื่อปรับสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้งและเสื่อมโทรมจากไร่ข้าวโพดให้เป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ในอนาคต

ด้วยบทบาทของผู้ใหญ่บ้านของพ่ออุดม เขานำความรู้นี้มาถ่ายทอดต่อ โดยบอกคนอื่น ๆ ให้เริ่มทำพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน ถ้าทำแล้วดีจึงค่อย ๆ ขยาย ปัจจุบันมีผู้ที่ไปอบรมแล้ว 2 รุ่น ขยายเป็น 16 ครัวเรือน โดยมีการเอามื้อในกลุ่มสัปดาห์ละครั้งอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 50% ในกลุ่มชาวบ้านทุ่งเทิงที่ยังไม่มีโอกาสได้ไปอบรม แต่เมื่อเห็นตัวอย่างเป็นที่ประจักษ์ จึงพร้อมลงมือเดินตาม
ครอบครัวอุทะเสนได้สร้างพื้นที่ต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจให้พื้นที่รอบข้างหันมาทำตาม มีผู้สนใจมาดูงานสม่ำเสมอ แม้ว่าคนส่วนมากจะขาดโอกาสในการไปอบรมด้วยข้อจำกัดทางการเงิน พวกเขาจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อบอกต่อความรู้สู่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ทุกคนได้รับโอกาสเช่นเดียวกัน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากจุดเล็ก ๆ ขยายไปสู่อำเภอ จังหวัด และประเทศ เพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียว รักษาป่าต้นน้ำ ปลอดสารเคมี และสามารถพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน