ศราวุธ และมุฑิตา ค้าขาย

ศราวุธ และมุฑิตา ค้าขาย

วัลลภาฟาร์มสเตย์ อ.เมือง จ.ลพบุรี

ศราวุธ ค้าขาย (เต้) และ มุฑิตา ค้าขาย (เบญ) สองสามีภรรยาแห่ง วัลลภาฟาร์มสเตย์ จ.ลพบุรี ผู้ที่หันหลังให้กับชีวิตในเมือง กลับมาสร้างครอบครัวบนผืนดินของบรรพบุรุษ นำศาสตร์พระราชามาใช้บริหารจัดการด้วยรูปแบบโคก หนอง นา ด้วยการสนับสนุนเกื้อกูลกันของครอบครัวและเครือข่าย นำการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเชิงทฤษฎีใหม่มาสร้างวิสาหกิจชุมชนวัลลภาฟาร์มสเตย์ สร้างงานในชุมชนและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มาเยือน เพื่อหวังให้ทุกคนได้รับความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นว่า "เราต้องรอดและพาคนอื่นรอดด้วย"

เต้เติบโตและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เขาเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจและครู จึงคาดหวังให้เขารับราชการเช่นกัน เมื่อบุพการีถึงวัยเกษียนจึงได้มาทำปศุสัตว์ เลี้ยงวัวและม้าที่ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นที่มาของวัลลภาฟาร์มสเตย์แห่งนี้

เขาจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพราะชอบธรรมชาติ เมื่อเรียนจบได้ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบูรพาอยู่ 3 ปี จากนั้นจึงเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวด้านการขายสื่อโฆษณา เมื่อเต้มีครอบครัวจึงคิดกลับมาพัฒนาฟาร์มของพ่อแม่ที่ จ.ลพบุรี

เบญเป็นชาวโคราช จบการศึกษาด้านพัฒนาชุมชนจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชอบด้านสังคมเพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาคนและประเทศให้ยั่งยืน เมื่อเรียนจบได้ทำงานพัฒนาชุมชน จนมีครอบครัวจึงย้ายมาสร้างครอบครัวที่ จ.ลพบุรี เพราะอยากใกล้ชิดเลี้ยงดูลูก ๆ ให้เติบโตกับธรรมชาติและสามารถพึ่งตนเองได้ เช่นเดียวกับในวัยเด็กของเธอที่เธอเติบโตมากับวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่อยู่กับการเกษตร ปัจจุบันเธอทำหน้าที่ผู้ประสานงานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติของจังหวัดลพบุรี โดยนำความรู้จากการที่ได้ไปอบรมและทำงานร่วมกับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มาร่วมกันขับเคลื่อนในลุ่มน้ำป่าสัก

วัลลภาฟาร์มสเตย์เริ่มจากการสอนขี่ม้า ทำอาชาบำบัดให้กลุ่มเด็กพิเศษ ต่อมาพัฒนาเป็นฟาร์มสเตย์  โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำตามกำลัง ไม่เป็นหนี้ อยู่อย่างพอเพียง อยู่กับธรรมชาติ  ปลูกฝังความรักธรรมชาติให้เด็ก ๆ ที่มาเที่ยวชม โดยสอดแทรกความรู้ลงไปในกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การสอนปั้นดิน ทำไข่เค็มดินสอพอง ขี่ม้า ขี่ควาย นั่งรถอีแต๋น และให้ความรู้เรื่องศาสตร์พระราชา เกษตรทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และบันได 9 ขั้น เพราะศาสตร์พระราชาอยู่ในทุกมิติของชีวิต ทั้งดิน น้ำ ป่า และอากาศที่บริสุทธิ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มาเยือน เพราะนี่คือวิถีแห่งความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน

ในปีที่ 4 ของโครงการฯ (พ.ศ. 2559) ขบวนปั่นจักรยานรณรงค์ได้มาแวะพักทำกิจกรรมที่ฟาร์มแห่งนี้ และนับจากนั้นครอบครัวนี้ก็ได้ร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ มาจนถึงปัจจุบัน