กุล ปัญญาวงศ์

กุล ปัญญาวงศ์

ผู้อำนวยการ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) อ.ท่าวังผา จ.น่าน

กุล เป็นชาวน่านที่เติบโตและใช้ชีวิตในเมืองเฉกเช่นใครหลายคน เธอเริ่มต้นการทำงานในบริษัทโฆษณาชั้นนำระดับโลก แล้วหันเหมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำค่ายเยาวชน ทำหนังสือ และรายการโทรทัศน์ สู่การทำงานเพื่อสังคมเต็มตัวด้วยการเป็นอาสาสมัครทำงานในป่าเพื่อรักษาป่าต้นน้ำ จนได้มาพบกับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) ซึ่งทำให้เธอได้เปลี่ยนชีวิตมาเป็นแม่ทัพในสมรภูมิรบแนวหน้าเพื่อรักษาป่าต้นน้ำน่านและสืบสานศาสตร์พระราชา

กุลใช้ชีวิตในวัยเยาว์อย่างโลดโผน เพราะชอบความท้าทาย การผจญภัย และกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด เมื่อจบการศึกษาก็ได้ทำงานในเมืองและมีชีวิตอย่างคนกรุงทั่วไปที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ จนหลงเมืองลืมบ้าน แม้ว่าในภายหลังเธออยากจะกลับไปอยู่บ้านที่ จ.น่าน แต่ก็นึกไม่ออกว่าจะไปทำอะไรและจะอยู่อย่างไร จึงคิดว่าคงต้องทำงานอยู่ที่เชียงใหม่จนเกษียณแล้วจึงกลับบ้าน

จากการงานของเธอทำให้ได้มีโอกาสพาคนไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ทำให้ได้รู้จัก อ.ยักษ์ จึงขออาสาดูแลเมื่อ อ.ยักษ์ เดินทางมาที่ จ.น่าน และ จ.เชียงใหม่ เธอได้เห็นการทำงานของอาจารย์จากการติดตามลงพื้นที่ จนมาสะดุดกับคำพูดของ อ.ยักษ์ ที่ว่าน่าจะมีใครสักคนที่มาทำตรงนี้ ปัญหาของน่านไม่ใช่ปัญหาของคนน่าน แต่เป็นปัญหาของประเทศ หากทำให้คนน่านเปลี่ยนได้ก็จะแก้ปัญหาเรื่องป่าและการพึ่งตัวเองของชาวบ้านได้

การที่เธอได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอด 24 ปี จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เธอจะต้องกลับมาทำที่บ้านเกิด เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ ให้เกิดขึ้น ภาพที่เธอเคยเห็นครั้งยังเป็นเด็กที่พื้นที่เต็มไปด้วยไม้สักทอง เห็นแต่ต้นไม้ปกคลุมมิดภูเขา พอเรียนหนังสือกลับมาบ้านก็พบว่าภูเขาเป็นสีน้ำตาล และเปลี่ยนสภาพเป็นภูเขาหัวโล้นที่ไกลเกินกว่าจะฟื้นกลับคืนมา แย่กว่านั้นคือสภาพสังคมก็เปลี่ยนไปด้วย

ปัญหาของน่านคือ คนอยู่ไม่ได้ ป่าก็อยู่ไม่ได้ ส่งผลกระทบจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ จากผลของการเปิดพื้นที่ป่าเพื่อทำพืชเชิงเดี่ยวของการปฏิวัติเขียว ทำให้ป่าต้นน้ำหายไป พัดเอาตะกอนดินไปยังแม่น้ำและเขื่อน ทำให้ตื้นเขินเก็บน้ำไม่ได้ เกิดปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ชาวบ้านไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ เต็มไปด้วยหนี้สินและปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมี

สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้เชื่อ  ซึ่งต้องเริ่มจากการที่ตัวเองจะต้องเชื่อก่อน ด้วยการลงมือทำจนเห็นผลตำตา โดยมีความตั้งใจที่ไม่ยอมแพ้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เธอใช้เวลา 4 ปี กว่าที่จะผ่านพ้นช่วงลองผิดลองถูกและชนะใจตนเอง จนวันนี้ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน เขียวชอุ่มไปด้วยป่า 5 ระดับ มีของกินของใช้ให้นำไปแปรรูป ทำครบบันได 9 ขั้น สิ่งสำคัญคือ ในช่วงเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เธอได้ส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจสู่คนอื่น ๆ  โดยเปิดการอบรมไปแล้วกว่า 30 รุ่น

แม่ทัพกุลเชื่อว่าด้วยพลังของความสามัคคี จอบจะเปลี่ยนน่านได้ ซึ่งหัวใจของศาสตร์พระราชานั้นไม่เพียงแต่สร้าง ดิน น้ำ ป่า แต่เป็นการยกระดับความเป็นคน ทั้งในเรื่องการแบ่งปันและการอยู่ร่วมกับคนอื่น สิ่งที่ดีที่สุดในการสืบสานศาสตร์พระราชาคือ การจารไว้ในแผ่นดินด้วยการลงมือทำ
กุล ร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ มาหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญคือ การสร้างต้นแบบโคก หนอง นา “คนเบื่อเมือง” ที่ห้วยกระแทก จ.ลพบุรี