นาขาวัง

นาขาวัง

นาขาวัง
ในแบบกสิกรรมธรรมชาติ

"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"

ลุ่มน้ำบางปะกง มีความสำคัญในการเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศไทย โดยเป็นที่ปลูกข้าวพันธุ์ส่งกรมการข้าว เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา โดยการทำ “นาขาวัง” ซึ่งเป็นรูปแบบการทำนาในระบบนิเวศ 3 น้ำ นับเป็นความชาญฉลาดของชาวลุ่มน้ำบางปะกง ที่เรียนรู้กลไกธรรมชาติของน้ำขึ้น น้ำลง โดยทำนาข้าวในฤดูฝน ส่วนในฤดูแล้งก็จะปล่อยน้ำเค็มให้ไหลเข้ามาในนาเพื่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา

“ขาวัง” คือ ร่องน้ำรอบแปลงนา เป็นภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชาวนาในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันเหลือพื้นที่ทำนาขาวังเฉพาะที่ ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา การทำนาขาวังใน อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงเป็นการอนุรักษ์สืบต่อภูมิปัญญาบรรพชนไม่ให้สูญหาย และเป็นการสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการสร้างแหล่งอาหาร

การทำนาขาวัง

นาขาวัง คือ การทำนาร่วมกับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ผืนเดียวกัน โดยขุดคูน้ำลึกประมาณ 1.5 – 2 เมตร กว้าง 2-5 เมตร (ยิ่งกว้างยิ่งดี เพื่อให้ด้านล่างคูน้ำมีออกซิเจนมาก) ไว้ล้อมรอบแปลงนา เพื่อทำนาในช่วงที่น้ำจืดและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงน้ำเค็ม โดยทำประตูน้ำ เพื่อความสะดวกในการควบคุมน้ำเข้า – ออก ได้ตามต้องการ และด้านในของประตูด้านที่อยู่ในนาขังวังให้ติดตาข่ายตาถี่ไว้ เพื่อกรองลูกสัตว์น้ำไว้ในขาวังขณะที่ทำการปล่อยน้ำออก

การทำนาแบบกสิกรรมธรรมชาติ จะทำคันดินกั้นระหว่างแปลงนากับคูน้ำ เพื่อประโยชน์ในการกักเก็บน้ำและควบคุมระดับน้ำในแปลงนา และยังสามารถปลูกพืชผักไว้เป็นอาหารบนคันนา การทำนาขาวังในแบบกสิกรรมธรรมชาติจึงปั้นคันนาส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาจากการทำนาขาวังตามปกติ
ฤดูแล้งเปิดน้ำเค็มเข้านาขาวัง ขณะที่น้ำเค็มเข้านามีเชื้อหรือลูกกุ้ง ปลากระบอก หอยกะพง หอยกะพัง ปูทะเล ฯลฯ เข้ามากับน้ำทะเลด้วย น้ำทะเลที่เข้ามาในนาขาวังยังย่อยสลายฟางข้าว ย่อยสลายหญ้า เป็นการฆ่าหญ้าแบบธรรมชาติ เมื่อเกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติทำให้เกิดหนอนแดง ไส้เดือน ลูกน้ำ และแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู และปลา ในนาขาวังที่เติบโตด้วยอาหารจากธรรมชาติ รสชาติจึงอร่อยตามธรรมชาติและปลอดภัย

ในบริเวณพื้นที่กสิกรรม ให้ขุดบ่อหรือหนองน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำและเลี้ยงปูทะเล กุ้ง ปลากะพง และปลาหมอเทศ เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้

การทำนาขาวังเริ่มขึ้นในฤดูฝน เมื่อน้ำจืดมา จะเริ่มถ่ายน้ำโดยเปิดประตูเพื่อนำน้ำเข้า – ออกนา เพื่อล้างให้ดินจืด ซึ่งต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน หากใช้รถไถนาลงไปตีกวนเลนหลังจากปล่อยน้ำจืดเข้าล้าง เมื่อตีกวนเลนแล้วจึงปล่อยน้ำออก จะช่วยให้ดินจืดได้ภายใน 7 – 10 วัน จากนั้นจึงตีเลนไถคราดทำเทือกให้พื้นที่เรียบเสมอกันเพื่อเตรียมหว่านข้าว เมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน จะปล่อยกุ้งก้ามกรามหรือปลาไปเลี้ยงร่วมในแปลงนาด้วย
การขุดคูน้ำรอบแปลงนา มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้จัดการความเค็มที่ตกค้างในดินได้ โดยน้ำเค็มจะอยู่ต่ำกว่าน้ำจืด การเปิดให้น้ำจืดเข้ามาล้างดิน ความเค็มที่ตกค้างจะไหลมารวมกันในคูซึ่งเป็นที่ต่ำกว่า เมื่อเปิดน้ำออกความเค็มก็จะถูกระบายออกไปด้วย ชาวบ้านจะเปิดน้ำเข้ามาล้างดินในลักษณะเช่นนี้ไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์จนกว่าดินจะจืด โดยสังเกตลักษณะของน้ำหรือใช้วิธีชิมน้ำ

ก่อนจะเกี่ยวข้าว ก็เป็นเวลาที่สัตว์น้ำโตที่ได้ขนาดก็จับไปขาย ส่วนที่ยังโตไม่ได้ขนาดจะนำไปเลี้ยงต่อไว้ในบ่อ เมื่อข้าวอายุได้ 120 วัน จะทำการเก็บเกี่ยว ข้าวที่ปลูกในนาขาวังจะให้ผลผลิตต่อไร่สูง เพราะอุดมด้วยธาตุอาหารที่สะสมอยู่ในดินจากการย่อยสลายของซากพืชและมูลสัตว์ ข้าวมีคุณภาพดี เพราะดินที่มีความเค็มเล็กน้อยทำให้หญ้าหรือพืชพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ต้องการไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ข้าวจึงมีสิ่งเจือปนน้อย อีกทั้งคูน้ำที่ขุดไว้ล้อมรอบแปลงนายังทำให้เวลาจะเก็บเกี่ยวพื้นนาจะแห้งได้ดีกว่า ข้าวที่เก็บเกี่ยวจะมีความชื้นต่ำเป็นการเพิ่มคุณภาพอีกทางหนึ่งด้วย

หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็จะเข้าสู่หน้าแล้ง น้ำเค็มหนุนเข้ามาตามลำน้ำ ชุมชนแถบนี้ยังสามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยหรือสัตว์น้ำเค็มต่อได้อีก โดยจะใช้รถตีไถกลบซังทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะปล่อยน้ำกร่อย/น้ำเค็มเข้านาขาวัง ทิ้งไว้อีก 1 สัปดาห์ จึงปล่อยลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่สามารถเลี้ยงร่วมกันได้ ได้แก่ กุ้ง ปูทะเล และปลาน้ำกร่อย/น้ำเค็ม ได้แก่ ปลากะพงขาว ปลาหมอเทศ เมื่อเลี้ยงจนโตได้ที่ก็จะเริ่มจับขาย โดยทยอยดักตัวที่โตได้ขนาดไปขาย ฉะนั้น การทำนาขาวังจึงทำให้ชาวบ้านมีรายได้หมุนเวียนตลอดปี

วิธีทำนาขาวัง

  1. ขุดคูน้ำลึกประมาณ 1.5 – 2 เมตร กว้าง 2-5 เมตร ล้อมรอบแปลงนา โดยเชื่อมต่อกับลำรางธรรมชาติเพื่อเปิด-ปิดรับน้ำตามเวลาที่กำหนด
  2. ฤดูแล้ง เปิดน้ำเค็มเข้านาขาวัง เพื่อย่อยสลายฟางข้าวและย่อยสลายหญ้าเป็นการฆ่าหญ้าแบบธรรมชาติ ทำให้เกิดหนอนแดง ไส้เดือน ลูกน้ำและแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหารให้สัตว์น้ำ
  3. ฤดูฝน เมื่อน้ำจืดมาจะเริ่มถ่ายน้ำ โดยเปิดน้ำเข้า-ออกนา เพื่อล้างให้ดินจืด ซึ่งต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน หากใช้รถไถนาลงไปตีกวนเลนหลังจากปล่อยน้ำจืดเข้าล้าง เมื่อตีกวนเลนแล้วจึงปล่อยน้ำออก จะช่วยให้ดินจืดได้ภายใน 7 – 10 วัน
  4. ตีเลนไถคราดทำเทือกให้พื้นที่เรียบเสมอกันเพื่อเตรียมหว่านข้าว แล้วหว่านข้าว เมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน จะปล่อยกุ้งก้ามกรามหรือปลาไปเลี้ยงร่วมในแปลงนาด้วย
  5. ก่อนได้เวลาเกี่ยวข้าวจะจับสัตว์น้ำที่โตได้ขนาดไปขายหรือที่ยังไม่ได้ขนาดจะนำไปเลี้ยงต่อไว้ในบ่อ
  6. เมื่อข้าวอายุได้ 120 วันจะทำการเก็บเกี่ยว

ข้อมูลจาก

  • ประสิทธิ์ ลิ้มซิน
  • ไตรภพ โคตรวงษา มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
  • FB บางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต